สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการประปาส่วนภูมิภาค (สร.กปภ.)
THE LABOUR UNION OF PROVINCIAL WATERWORKS AUTHORITY (LUPWA)
Toggle navigation
ประวัติสหภาพฯ
"May Day วันกรรมกรสากล" โดย ภัควดี วีระภาสพงษ์
"การต่อสู้ของสหภาพแรงงานไทย..." โดย สรส.
ประวัติสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กปภ.
พรบ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พรบ. แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
สร.กปภ.
เอกสารการจดทะเบียน
เอกสารแต่งตั้ง
คณะกรรมการและตำแหน่งบริหาร
ผังการบริหารองค์กร
ข้อบังคับ
อื่น ๆ
นโยบายและแผน
เกี่ยวกับสมาชิกฯ
บทความ
ข้อมูลสมาชิก
รายชื่อสมาชิก
ใบสมัครสมาชิก
การลาออก
ผลงาน สร.กปภ.
ตู้ ปณ.สร.กปภ.
เว็บบอร์ด สร.กปภ.
ดาวน์โหลด
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
"May Day วันกรรมกรสากล" โดย ภัควดี วีระภาสพงษ์
"May Day วันกรรมกรสากล"
ตีพิมพ์ครั้งแรกในจุลสารเสมอภาค ฉบับที่ 2 พฤษภาคม - มิถุนายน 2551 โดย ภัควดี วีระภาสพงษ์
นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา การผลิตในระบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่มีสภาพเปรียบเสมือน "โรงสีปิศาจ" ชนชั้นแรงงานถูกขูดรีดอย่างหนักเพื่อการสั่งสมทุนในระบบทุนนิยม คนงานต้องทำงานหนักถึงวันละ 16-18 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด ไม่มีมาตรฐานความปลอดภัยหรือสวัสดิการใด ๆ ทั้งสิ้น
ความเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานเพื่อปลดแอกตัวเองเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ นับครั้งไม่ถ้วน การต่อสู้เรียกร้องให้ลดชั่วโมงทำงานปะทุขึ้นทั้งในยุโรป ละตินอเมริกา สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ใน ค.ศ. 1840 ที่อาณานิคมเวลลิงตันในนิวซีแลนด์ ช่างไม้ชื่อ ซามูเอล พาร์เนลล์ ยืนกรานไม่ยอมทำงานมากกว่าวันละ 8 ชั่วโมง พาร์เนลล์เรียกร้องให้ช่างฝีมือคนอื่น ๆ สนับสนุนเวลาทำงานแปดชั่วโมงนี้ และในเดือนตุลาคมของปีนั้น การประชุมของแรงงานในอาณานิคมเวลลิงตันก็ลงมติสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว
ใน ค.ศ. 1872 ที่ประเทศแคนาดา ช่างพิมพ์คนหนึ่งในเมืองโตรอนโตลุกขึ้นเรียกร้องเวลาทำงาน 54 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในสมัยนั้น ความเคลื่อนไหวของแรงงานเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย กระนั้นก็ไม่ทำให้กรรมกรกว่า 10,000 คน ออกมาเดินขบวนประท้วง จนกดดันให้เซอร์จอห์น แมคโดนัลด์ นายกรัฐมนตรีของแคนาดาในสมัยนั้น ต้องยอมยกเลิกกฎหมายต่อต้านสหภาพแรงงานในที่สุด
ช่วง ค.ศ. 1882 มีการนัดหยุดงานของคนงานรถไฟในกรุงโตเกียว คนงานไร่ในประเทศรัสเซีย และคนงานเหมืองแร่ในประเทศฝรั่งเศส ตลอดช่วง ค.ศ. 1884-1886 มีการนัดหยุดงานในสหรัฐอเมริกาหลายพันครั้ง และมีคนงานเข้าร่วมชุมนุมเดินขบวนนับแสนคน ถึงแม้จะต้องเผชิญการปราบปรามอย่างรุนแรงจากรัฐและฝ่ายนายทุน แต่ขบวนการกรรมกรก็มิได้ย่อท้อ
จุดกำเนิดวันกรรมกรสากล
เหตุการณ์ที่กลายเป็นแรงบันดาลใจและต้นกำเนิดของวันกรรมกรสากลก็คือเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า "การจลาจลที่เฮย์มาร์เก็ต" เหตุครั้งนี้สืบเนื่องมาจากสหพันธ์แรงงานในสหรัฐอเมริกาและแคนาดากำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1886 เป็นวันนัดหยุดงานครั้งใหญ่ และจัดการชุมนุมเดินขบวนเพื่อเรียกร้อง "ระบบสามแปด" คือ ทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8ชั่วโมง และศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง
การเดินขบวนของแรงงานเกิดขึ้นทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา ประมาณกันว่ามีผู้ออกมาชุมนุมประท้วงราว 10,000 คน ในนิวยอร์ก 11,000 คนในดีทรอยต์ อีก 10,000 คนในเมืองมิลวอกี รัฐวิสคอนซิน แต่ศูนย์กลางการประท้วงที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่เมืองชิคาโก ซึ่งมีกรรมกรออกมาประท้วงถึง 40,000 คน และมีกรรมกรโรงงานแปรรูปไม้อีก 10,000 คนที่จัดเดินขบวนต่างหาก การชุมนุมประท้วงครั้งนี้น่าจะมีแรงงานชาวอเมริกันเข้าร่วมรวมทั้งหมด 300,000 - 500,000 คน
การประท้วงยืดเยื้อมาอีกสองสามวัน วันที่ 3 พฤษภาคม มีการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ตรวจชิคาโกกับขบวนการแรงงาน ทำให้กรรมกรเสียชีวิต 4 รายและบาดเจ็บอีกหลายราย
กลุ่มผู้นำแรงงานแนวอนาธิปไตยนัดชุมนุมในวันถัดมาที่จัตุรัสเฮย์มาร์เก็ต ซึ่งในสมัยนั้นเป็นศูนย์กลางการค้าสำคัญของชิคาโก การชุมนุมที่เริ่มขึ้นท่ามกลางสายฝนปรอย ๆ ในวันที่ 4 พฤษภาคมดำเนินไปอย่างสงบ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจวางกำลังไว้เป็นจำนวนมาก ขณะที่ผู้ปราศรัยคนสุดท้ายกำลังกล่าวปิดการชุมนุมในเวลาราวสี่ทุ่มครึ่ง ตำรวจก็สั่งให้ผู้ชุมนุมสลายตัว แต่ทันใดนั้นเอง โดยไม่มีใครคาดคิด มีคนโยนระเบิดลูกหนึ่งใส่แถวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้ตำรวจนายหนึ่งเสียชีวิตทันที ตำรวจจึงเปิดฉากยิง มีคนงานยิงตอบโต้บ้าง เหตุจลาจลครั้งนี้กินเวลาน้อยกว่าห้านาทีด้วยซ้ำ
ถึงแม้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนายได้รับบาดเจ็บจากระเบิด แต่ตำรวจอีกหลายคนที่เสียชีวิตนั้นเป็นเพราะการยิงกันเองในหมู่ตำรวจด้วยความผิดพลาดเนื่องจากความมืด การจลาจลครั้งนี้ทำให้ตำรวจ 7 นายและกรรมกร 4 รายเสียชีวิต กรรมกรที่บาดเจ็บมีเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีตัวเลขแน่นอน จำนวนผู้เสียชีวิตที่แท้จริงของฝ่ายกรรมกรอาจสูงกว่านี้ก็เป็นได้
ล่วงมาถึง ค.ศ. 1889 ในการประชุมสมัชชาสังคมนิยมของสภาสากลที่สอง ซึ่งมีตัวแทนจากประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมประชุมถึง 20 ประเทศ มีมติให้ชุมนุมเดินขบวนเรียกร้องเพื่อให้มีการลดชั่วโมงทำงานลงอีกครั้งในวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ.1890และเพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุจลาจลที่เฮย์มาร์เก็ต การเดินขบวนครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง จนทำให้ชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลกพร้อมใจกันกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีเป็น "วันกรรมกรสากล"
การแทรกแซงของภาครัฐ
วันกรรมกรสากลจึงกลายเป็นวันแสดงพลังของชนชั้นแรงงานทั่วโลก เป็นวันนัดพบของทั้งนักสังคมนิยม คอมมิวนิสต์และอนาธิปไตย การเดินขบวนของกรรมกรมีการปะทะกับฝ่ายรัฐหลายครั้งในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก อาทิเช่น ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ค.ศ. 1929 ขบวนของกรรมกรถูกตำรวจบุกเข้าปราบปราม จนมีผู้ร่วมชุมนุมและคนนอกถูกลูกหลงเสียชีวิตถึง 32 ราย และมีอีกอย่างน้อย 80 รายที่บาดเจ็บสาหัส ตำรวจเมืองเบอร์ลินยิงกระสุนออกไปถึง 11,000 นัด โศกนาฏกรรมครั้งนี้มีชื่อเรียกขานว่า Blutmai หรือ "พฤษภาเลือด"
การสำแดงพลังของชนชั้นกรรมาชีพทำให้ภาครัฐหวาดหวั่น ด้วยเหตุนี้ รัฐในหลาย ๆ ประเทศจึงพยายามเข้ามาแทรกแซงความหมายของวันกรรมกรสากล อาทิเช่น ในสหรัฐอเมริกา ทั้ง ๆ ที่ประเทศนี้เป็นต้นกำเนิดของวันกรรมกรสากล แต่"วันกรรมกร" อย่างเป็นทางการของสหรัฐฯ กลับกำหนดไว้ที่วันจันทร์แรกของเดือนกันยายน การกำหนด "วันกรรมกร"เช่นนี้เป็นการร่วมมือกันของสหภาพแรงงานที่เข้าข้างรัฐกับประธานาธิบดีโกรเวอร์ คลีฟแลนด์ ถึงแม้จะถูกสหภาพแรงงานและกรรมกรอเมริกันจำนวนมากคัดค้านก็ตาม อย่างไรก็ดี ใน ค.ศ. 2006 แรงงานอพยพจากละตินอเมริกาเลือกวันที่ 1 พฤษภาคมเป็นวันนัดหยุดงานประท้วงครั้งใหญ่ เพื่อสำแดงให้รัฐบาลสหรัฐฯ รับรู้ถึงความสำคัญของแรงงานอพยพ
วันกรรมกรสากลในประเทศไทย
ในประเทศไทย มีการจัดงานวันกรรมกรสากลอย่างเปิดเผยครั้งแรกในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ที่สนามหน้าสำนักงานสมาคมไตรจักร์ (สามล้อ) พระราชวังอุทยานสราญรมย์ จัดโดยสมาคมกรรมกรสงเคราะห์กรุงเทพร่วมกับสมาคมไตรจักร์ มีผู้เข้าร่วมประมาณ 3 พันคน
ปีต่อมา การชุมนุมวันกรรมกรสากล พ.ศ. 2490 มีขึ้นที่ท้องสนามหลวง ภายใต้คำขวัญ "กรรมกรทั้งหลายจงสามัคคีกัน" ถือเป็นการแสดงพลังของชนชั้นกรรมาชีพไทยครั้งใหญ่ที่สุด เพื่อเฉลิมฉลองการจัดตั้งสหพันธ์กรรมกรระดับชาติแห่งแรกใน ประเทศไทย คือ "สมาคมสหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทย" วันกรรมกรสากลปีนั้นมีผู้เข้าร่วมกว่าแสนคน แต่แล้วเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ก็เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจ รัฐบาลเผด็จการได้ห้ามจัดงานวันกรรมกรสากลอีก
กระทั่งในปี พ.ศ. 2499 กรรมกรในประเทศไทยรวมตัวกันเป็น "กรรมกร 16 หน่วย" มีเป้าหมายเคลื่อนไหวให้รัฐบาลเร่งออกกฎหมายรับรองสิทธิด้านต่าง ๆ รวมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลถือเอาวันกรรมการสากลเป็นวันกรรมกรแห่งประเทศไทย ให้กรรมกรเฉลิมฉลองในวันนี้ได้ รวมทั้งให้กรรมกรทั่วประเทศหยุดงานโดยไม่ถูกตัดค่าแรง แต่ผลการเจรจาต่อรองกับรัฐบาลเผด็จการของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำให้กรรมกรจำต้องยอมรับเงื่อนไขให้เปลี่ยนชื่อจาก "วันกรรมกรสากล" เป็น "วันแรงงานแห่งชาติ"
จากจุดเริ่มต้นในครั้งนั้น ทำให้วันกรรมกรสากลของไทยถูกแทรกแซงจากรัฐบาลมาโดยตลอด จนกระทั่งปัจจุบัน เนื้อหา และรูปแบบของการจัดงานมักถูกควบคุมโดยรัฐบาลและบริษัทเอกชนที่เป็นผู้ให้การสนับสนุนงบประมาณ ซึ่งเน้นไปในเรื่องกิจกรรมบันเทิงสนุกสนาน ไม่มีการสะท้อนปัญหาและวัฒนธรรมของผู้ใช้แรงงาน การยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลในวันที่ 1พฤษภาคม ก็ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวติดตามอย่างจริงจัง ทำให้ข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานกลายเป็นเพียงพิธีการประกอบเท่านั้น อีกทั้งในบางปียังให้นายกรัฐมนตรีมาเป็นประธานในพิธีเปิดงานเพื่อให้โอวาทอบรมด้วย
ก้าวให้พ้นประเด็นค่าแรงและชั่วโมงการทำงาน
ผู้ได้รับอานิสงส์จากการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพ ส่วนใหญ่กลับเป็นมนุษย์เงินเดือนชนชั้นกลางทั้งหลาย ไม่ว่าชั่วโมงการทำงาน 8 ชั่วโมง สวัสดิการต่าง ๆ ทั้งที่ได้จากภาครัฐและเอกชน รวมทั้งศักดิ์ศรีของการเป็น "คนทำงาน" ล้วนแล้วแต่เป็นผลพวงมาจากการต่อสู้อย่างอดทนของแรงงานทั้งสิ้น ทว่าชนชั้นแรงงานเองกลับไม่ได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ยิ่งในยุคปัจจุบันที่ระบบทุนนิยมขับเคลื่อนด้วยแรงงานเหมาช่วงและแรงงานนอกระบบ ชนชั้นแรงงานก็ยิ่งตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบมากขึ้นทุกที
กระนั้นก็ตาม ชนชั้นแรงงานในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกยังคงเคลื่อนไหวอย่างเข้มแข็ง รวมทั้งสร้างสรรค์แนวทางใหม่ ๆ ที่จะข้ามพ้นการเป็นเพียงผู้ร้องขอเศษเดนจากระบบทุนนิยม โดยเฉพาะในละตินอเมริกา ในอาร์เจนตินา มีสถานประกอบการหลายแห่งที่แรงงานเข้ากอบกู้ ด้วยการผลิต บริหารและขายเอง โดยไม่ต้องมีชนชั้นผู้จัดการ ทั้งยังประสบความสำเร็จอย่างดีด้วย
ในอีกหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะในเวเนซุเอลา เรามักได้เห็นขบวนพาเหรดของชนชั้นแรงงานในวันกรรมกรสากลถือป้ายผ้าที่มีข้อความว่า "หากปราศจากการร่วมบริหารงาน ก็ไม่มีการปฏิวัติ" หรือ "การร่วมบริหารงานคือการปฏิวัติ"
การร่วมบริหารงาน หรือในภาษาสเปนเรียกว่า autogestion หมายถึงการที่แรงงานมีสิทธิ์ตัดสินใจในการบริหารสถานประกอบการ มิใช่ปล่อยให้เจ้าของทุนหรือชนชั้นผู้จัดการตัดสินใจเพียงฝ่ายเดียว หากแรงงานสามารถเข้ามาร่วมบริหารงานในสถานประกอบการได้ เป้าหมายของการผลิตก็จะเปลี่ยนไปจากการผลิตเพื่อทำกำไรสูงสุด มาเป็นเป้าหมายของการผลิตเพื่อรับใช้ชุมชนและสังคม เป้าหมายที่กำกับการผลิตควรกำหนดขึ้นมาด้วยกระบวนการประชาธิปไตย ทั้งในชุมชนและสถานประกอบการ เพื่อให้การผลิตนั้นตอบสนองความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง เป้าหมายนี้จะบรรลุได้ก็ด้วยการเปิดโอกาสให้ชนชั้นแรงงานมีสิทธิ์ในการร่วมบริหารงานเท่านั้น
ด้วยสมองและสองมือ ชนชั้นแรงงานไม่จำเป็นต้องพิชิตโลก แค่สร้างโลกใบใหม่ที่มีเป้าหมายให้มนุษย์ทุกคนมีโอกาสพัฒนาเป็นมนุษย์เต็มคน เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว