ปล้นกลางแดด ๑.๕๖ หมื่นล้านบาท.....
ปล้นกลางแดด ๑.๕๖ หมื่นล้านบาท.....
ต่อสัญญาอัปยศ ปทุมธานี-รังสิต
การแก้ไข (ต่อ) สัญญาให้สิทธิผลิตและขายน้ำประปาให้แก่ บริษัท ประปาปทุมธานี รังสิต จำกัด พ.ศ. ๒๕๖๔ ขยายอายุสัญญาอีก ๒๐ ปี /เพิ่มปริมาณการซื้อน้ำโดยไม่มีข้อจำกัด / หลีกเลี่ยงการประกวดราคา (Bidding) / ผูกขาดผลประโยชน์ให้เอกชนเพียงรายเดียว / อ้างความเดือดร้อนของประชาชนผู้ใช้น้ำ โดยใช้ประชาชนเป็นตัวประกัน /ประวิงเวลาไม่เตรียมการในการรับโอน เมื่อถึงเวลาอ้างความไม่พร้อม / ไม่บริหารจัดการน้ำสูญเสีย น้ำไม่พอ ให้ซื้อน้ำเพิ่ม / น้ำจากการประปานครหลวงพร้อมขายให้ แต่ไม่ยอมซื้อ ...
วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๓๘ การประปาส่วนภูมิภาค ได้ทำสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาแก่ บริษัท ปทุมธานี จำกัดโดยให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบสัญญา BOOT (Build-Own-Operate-Transfer) ซึ่งเป็นรูปแบบที่ให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างระบบผลิตและจำหน่ายน้ำประปา โดยเอกชนดำเนินการออกแบบและก่อสร้างระบบประปา มีสถานะเป็นเจ้าของ ทรัพย์สินหลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จ จากนั้นเอกชนจะเป็นผู้ใช้ทรัพย์สินดังกล่าวในการระบบผลิต ดูแลบำรุงรักษา และขายน้ำประปาให้กับ กปภ. ตลอดอายุของสัญญา โดยเมื่อสิ้นสุดสัญญาเอกชนร่วมลงทุนจะต้องส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมดคืนให้ กปภ. หรือ ณ วันสิ้นสุดสัญญาทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของ กปภ. สัญญาฯ ดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๖ นับอายุสัญญา ๒๕ ปี จากวันที่บริษัทฯ เริ่มขายน้ำเมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๔๑ กำหนดรับซื้อน้ำ “ไม่เกิน” ๒๘๘,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ในราคาเริ่มต้นที่ ๗.๘๙ บาทต่อลูกบาศก์เมตร (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยราคาค่าน้ำจะถูกปรับ (เพิ่มขึ้น) ทุกปีตามดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
ที่ผ่านมามีการปรับปรุงแก้ไขสัญญาดังกล่าว ๓ ครั้ง เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๔๙ วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ และวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๕๘ โดยเป็นการปรับเพิ่มปริมาณการซื้อน้ำ และปรับเพิ่มราคาตามฐานราคาในปีนั้น โดยมีสัญญาแก้ไขเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๔๙ “ปลดล๊อค” ปริมาณซื้อน้ำขั้นสูง เดิมที่กำหนดให้ซื้อไม่เกิน ๒๘๘,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยการเพิ่มการรับซื้อน้ำอีก ๗๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ที่ราคาเริ่มต้น ๙.๙๐ บาทต่อลูกบาศก์เมตร (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มทุกปีตามค่า CPI พร้อมระบุข้อความในสัญญาข้อ ๔ วรรคแรก ความว่า “คู่สัญญาตกลงให้มีการกำหนดปริมาณน้ำขั้นต่ำที่ต้องซื้อ...” ซึ่งหมายความว่า กปภ. จำต้องซื้อน้ำในปริมาณไม่เกิน ๒๘๘,๐๐๐ (ตามสัญญาแรก) รวมกับปริมาณไม่น้อยกว่า ๗๐,๐๐๐ (ตามสัญญาแก้ไข) รวมแล้ว จะต้องซื้อน้ำจากบริษัทฯ “ไม่น้อยกว่า” ๓๕๘,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยมีผลบังคับใช้ตามสัญญาจนถึงปัจจุบัน จากแก้ไขสัญญา (ซื้อน้ำเพิ่ม) ทั้ง ๓ ครั้ง ปัจจุบัน การประปาส่วนภูมิภาค
รับซื้อน้ำในปริมาณเฉลี่ยมากกว่า ๔๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ที่ราคาเฉลี่ย ๑๒.๕๐ บาทต่อลูกบาศก์เมตร
ข้อมูลจากเวบไซต์ https://www.ttwplc.com/th/business/structure-of-business-groups/ptw ได้ระบุข้อมูลพื้นฐานของบริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด ได้แก่ ปัจจุบันระบบผลิตมีกำลังการผลิตน้ำประปาสูงสุด ๔๘๘,๐๐๐ ลบ.ม./วัน บริษัทมีมูลค่าตามราคาหุ้นทั้งหมด ๑,๒๐๐ ล้านบาท ดังนั้น อาจพอที่จะอนุมานได้ว่า หากปล่อยให้สัญญาดำเนินไปโดยปกติ ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๖ กปภ. จะได้รับโอนกิจการที่มีมูลค่าสูงถึง ๑,๒๐๐ ล้านบาท จากบริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด
วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๖๒ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และประธานกรรมการการประปาส่วนภูมิภาค ในขณะนั้น ได้มีบันทึกข้อความแจ้งต่อผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค
ว่ารัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาและเห็นชอบแนวทางการดำเนินกิจการฯ ภายหลังสิ้นสุดสัญญาโครงการเอกชนร่วมลงทุนปทุมธานี-รังสิต คือให้ กปภ. เป็นผู้ดำเนินกิจการเอง เนื่องจากมีความคุ้มค่าทางการเงินมากที่สุด โดยแนวทางดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการการประปาส่วนภูมิภาค เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๒ มติของคณะกรรมการและความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นการดำเนินการตามความในมาตรา ๔๙ วรรคแรก แห่ง พ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. ๒๕๖๒ โดยหลังจากที่รัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดให้ความเห็นชอบแล้ว การประปาส่วนภูมิภาคมีหน้าที่ในการจัดเตรียมความพร้อมในทุกด้านเพื่อรับโอนกิจการหรือทรัพย์สินจากบริษัทภายหลังสิ้นสุดสัญญา (๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๖)
วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๓ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ลาออกจากประธานกรรมการการประปาส่วนภูมิภาค ส่งผลให้องค์ประกอบของคณะกรรมการไม่ครบในส่วนของประธานกรรมการ กรรมการที่เหลือจึงไม่อาจถือเป็นคณะกรรมการ และไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ได้วันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๔ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแต่งตั้ง นายธนาคม จงจิระ เป็นประธานกรรมการการประปาส่วนภูมิภาค พร้อมแต่งตั้งกรรมการอีก ๗ ตำแหน่ง รวม ๘ ตำแหน่ง เป็นคณะกรรมการการประปาส่วนภูมิภาคชุดปัจจุบัน
ในช่วงประมาณเดือนมิถุนายน ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา มีกระแสข่าวและปรากฏข้อเท็จจริงที่เป็นเอกสารและร่างสัญญา กรณีมี “กลุ่มขบวนการ” ที่มีการดำเนินการเพื่อให้มีการต่อสัญญาให้แก่บริษัทฯ
โดยเป็นการแก้ไขสัญญาที่เป็นการต่ออายุสัญญาออกไปอีก ๒๐ ปี ถึง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๘๖ เพิ่มปริมาณการซื้อน้ำจากบริษัทฯ สูงถึง ๕๓๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และให้สามารถซื้อมากว่าปริมาณนี้ได้
หากไม่เพียงพอต่อผู้ใช้น้ำ (ข้อมูลจากร่างสัญญาแก้ไขฯ ร่างเสร็จวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔) โดยผู้ที่เกี่ยวข้อง อ้าง บริษัทฯ ยื่นข้อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เสนอลดค่าน้ำจากสัญญาเดิมลง ๒ บาท และจะขยายกำลังผลิตเพิ่มขึ้นอีก ๑๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยอ้างเหตุผลต่าง ๆ ที่จะให้มีการต่อสัญญา โดยอ้างกฎหมายมาตรา ๔๖ ๔๗ และ ๔๘ แห่ง พ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. ๒๕๖๒ ในช่วงเวลาดังกล่าว สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการประปาส่วนภูมิภาค (สร.กปภ.) ได้มีหนังสือแจ้งผู้ว่าการฯ เพื่อขอรับทราบข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับร่างสัญญาแก้ไขเพื่อต่อสัญญาดังกล่าว แต่ไม่ได้รับคำตอบ ภายใต้ความคลางแคลงและกังวลในสิ่งที่ผิดปกติอย่างมีนัย สหภาพแรงงานได้ทำหนังสือคัดค้านการต่อสัญญาให้กับบริษัท โดยยืนยันสนับสนุนให้ กปภ. เป็นผู้ดำเนินกิจการเองภายหลังรับโอนทรัพย์สินจากเอกชน ในปี ๒๕๖๖ หนังสือสหภาพแรงงานฯ คัดค้านหลายฉบับ แจ้งต่อผู้ว่าการฯ ประธานคณะกรรมการฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี จนถึงวันนี้ยังไม่ได้รับความตอบถึงความชัดเจนในกรณีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
วันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๖๔ – ๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๔ สหภาพแรงงานฯ ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงานตรวจสอบที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน ได้แก่ ปปช. สตง และผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยหวังพึ่งอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานดังกล่าว เพื่อขอให้พิจารณายุติกระบวนการการต่อสัญญาดังกล่าวฯ
วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๔ สหภาพแรงงานฯ ฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง เพื่อให้มีคำพิพากษายุติกระบวนการเพื่อให้เกิดการแก้ไขสัญญาฯ เนื่องจากมีกระบวนการดำเนินการพิจารณาที่ผิดต่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ได้เคยมีข้อตกลงไว้กับสหภาพแรงงานฯ พร้อมขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในกรณีดังกล่าว
ประเด็นปัญหา
๑. มท. ได้เห็นชอบในมติของอดีตคณะกรรมการ กปภ. ชุดนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ในการที่ให้ กปภ. เป็นผู้ดำเนินกิจการเองภายหลังสิ้นสุดสัญญาในปี ๒๕๖๖ เป็นการดำเนินการโดยชอบตามมาตรา ๔๙ วรรค ๑ แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. ๒๕๖๒ แล้ว เหตุใด กปภ. จึงรับข้อเสนอของบริษัทฯ แล้วมีกระบวนการให้เกิดสัญญาแก้ไขเพื่อต่อขยายระยะเวลาให้บริษัทฯ โดยอ้างมาตรา ๔๖ ๔๗ และ ๔๘ ในกฎหมายฉบับเดียวกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นความพยายามในการต่อสัญญาให้บริษัทฯ จึงเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนเพียงรายเดียว เป็นการหลีกเลี่ยงการประกวดที่ให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมใช่หรือไม่
๒. กรณีสหภาพแรงงานฯ ได้มีหนังสือคัดค้านการต่อสัญญา เสนอต่อผู้ว่าการฯ และประธานกรรมการฯ เหตุใดยังไม่มีคำชี้แจงหรืออธิบายในสิ่งที่เกิดขึ้น ในการขอข้อมูลรายละเอียดดังกล่าวของสหภาพแรงงานฯ เหตุใด กปภ.ไม่ยอมจัดส่งข้อมูลดังกล่าวให้ มีเจตนาที่จะปกปิด อำพราง หรือขาดความสุจริตในเรื่องดังกล่าวหรือไม่
๓. เมื่อผู้ว่าการฯ ประธานกรรมการฯ ยังไม่แสดงความชัดเจนใด ๆ ในประเด็นปัญหาดังกล่าว สหภาพแรงงานฯ จึงแจ้งแสดงเจตจำนงในการคัดค้านการแก้ไขสัญญา โดยยื่นหนังสือต่อ มท. และ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี โดยสหภาพแรงงานฯ ยังรอคอยและคาดหวังให้มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยอำนาจหน้าที่ของท่านตามที่กฎหมายกำหนด
๔. สหภาพแรงงานฯ มีความจำเป็นที่จะต้องร้องเรียนปัญหาที่เกิดขึ้นต่อหน่วยงานตรวจสอบ ปปช. สตง. และผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมถึงต้องพึ่งพาอำนาจศาลปกครองในการยุติปัญหาดังกล่าว เพื่อระงับ ยับยั้งมิให้เกิดการลงนามในสัญญาแก้ไข เพราะหากมีการลงนามในสัญญาจริง หากสัญญานี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องถูกยกเลิกไป กปภ.อาจต้องเสีย “ค่าโง่” เงินชดเชยค่าเสียประโยชน์ทางธุรกิจคืนให้แก่บริษัท ค่าเสียหายดังกล่าว มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นบุคคลใดจะเป็นผู้รับผิดชอบ
๕. มูลค่ากิจการของบริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด จากข้อมูลหน้าเว็บไซต์ พอที่จะอนุมานตัวเลขอยู่ที่ ๑,๒๐๐ ล้านบาท ประกอบกับส่วนต่างของผลกำไรในกรณีที่ กปภ. เป็นผู้ดำเนินการ ๑๔,๔๐๐ ล้านบาทหากไม่ต่อสัญญา รวมเป็นมูลค่าการสูญเสียประโยชน์และโอกาสทางธุรกิจสูงถึง ๑๕,๖๐๐ ล้านบาท เงินจำนวนนี้ที่รัฐสูญเสีย ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
๖. การอ้างความเดือดร้อนของประชาชนผู้ใช้น้ำเป็นตัวประกัน ตลอดปริมาณการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นทุกปี ในการเสนอเพิ่มกำลังผลิตเพื่อขายน้ำเพิ่ม อ้างถึงการไม่มีเงินงบประมาณในการลงทุน กปภ. แต่ไม่เคยชี้แจงว่าสามารถเพิ่มน้ำสำหรับให้บริการประชาชนได้โดยไม่ต้องเพิ่มกำลังผลิต ๒ แนวทางหลัก
(๑) การบริหารและควบคุมน้ำสูญเสีย ทุกวันนี้ กปภ. ซื้อน้ำประมาณวันละประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร แต่สามารถขายน้ำให้ประชาชนเพียงร้อยละ ๕๘ โดยประมาณ ที่เหลือเป็นน้ำสูญเสียที่ไม่เกิดรายได้ ตัวอย่างข้อมูลประจำเดือนกันยายน ๒๕๖๔ ซื้อน้ำเฉลี่ยต่อวัน ๔๐๐,๒๘๔ ลูกบาศก์เมตร แต่ขายได้เพียง ๒๓๒,๔๑๘ ลูกบาศก์เมตร ที่หายไปคือน้ำสูญเสียจำนวน ๑๖๗,๘๘๘ ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นมูลค่าที่ต้องจ่ายให้บริษัทในอัตรา ๑๒.๕๐ เป็นเงินที่สูญเสียไป ๒,๐๙๘,๖๐๐ บาทต่อหนึ่งวัน ปัญหาดังกล่าว กปภ. สามารถลดหรือควบคุมน้ำสูญเสียให้ลดลงได้ โดยไม่จำเป็นต้องให้บริษัทขยายกำลังผลิตแล้วนำมาเป็นข้ออ้างในการต่อสัญญา
(๒) การประปาส่วนภูมิภาค กับ การประปานครหลวง ได้เคยมีบันทึกร่วมกัน ว่าด้วยความเข้าใจด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและการให้บริการน้ำประปา ระหว่าง ฉบับลงวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๙ โดยบันทึกดังกล่าวได้ระบุข้อตกลงในการให้ความร่วมมือกันบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและให้บริการน้ำประปาในพื้นที่รอยต่อของพื้นที่การให้บริการของทั้งสองรัฐวิสาหกิจ เมื่อพิจารณาบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ประกอบกับข้อมูลในด้านศักยภาพของการประปานครหลวง ทั้งในด้านกำลังผลิตน้ำประปา ต้นทุนน้ำประปาภายใต้ความคุ้มครองแห่ง พรบ.รักษาคลองประปา พ.ศ. ๒๕๒๖ ดังนั้น หากการประปาส่วนภูมิภาคจะพิจารณารับซื้อน้ำประปาจากการประปานครหลวง ในราคาน้ำประปาขายส่ง (Bulk Sale) ในอัตราคงที่ ๑๐.๕๐ บาทต่อลูกบาศก์เมตร เพื่อจำหน่ายน้ำให้กับประชาชนผู้ใช้น้ำในเขตพื้นที่รอยต่อของการให้บริการ ซึ่งรวมถึงพื้นที่ปทุมธานีและรังสิต จะเป็นการดำเนินการที่ได้ประโยชน์ร่วมที่ได้ประโยขน์ทั้งสองฝ่าย เป็นการซื้อขายระหว่างรัฐวิสาหกิจด้วยกัน เงินรายได้ที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นเงินรายได้ของรัฐ ประชาชนในพื้นที่รอยต่อของการให้บริการจะได้รับประโยชน์อย่างยั่งยืน เนื่องจากได้รับการบริการจากรัฐวิสาหกิจสองแห่งที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตและให้บริการน้ำประปา เป็นต้น โดยมีข้อสังเกตว่า การซื้อน้ำจาก กปน. จะมีความคุ้มค่ามากกว่าราคาที่บริษัทเสนอที่มีการปรับเพิ่มขึ้นทุกปีตามดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ CPI