สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการประปาส่วนภูมิภาค (สร.กปภ.)

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการประปาส่วนภูมิภาค (สร.กปภ.)

THE LABOUR UNION OF PROVINCIAL WATERWORKS AUTHORITY (LUPWA)

"มารู้จัก สหภาพแรงงาน กปภ." เรียบเรียงโดย นายมงคล ศรีแสง

มารู้จัก สหภาพแรงงาน กปภ.

คำถามยอดฮิต?
สหภาพแรงงาน คือ..อะไร
ทำไม?.จึงต้องมีสหภาพแรงงาน
เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานแล้วได้อะไร..?

ที่มา..คำถามที่มักจะถูกถามจากคนงานทั้งที่ยังไมเป็นสมาชิกและเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานอยู่เสมอ คือคำว่า “สหภาพแรงงานคืออะไร?” “ทำไม? จึงต้องมีสหภาพแรงงาน” “เป็นสมาชิกแรงงานแล้วได้อะไร” และคำถามที่มีลักษณะคล้าย ๆ กันเช่นนี้อยู่อีกมากมาย คือที่มา ทำให้เกิดการจัดการเอกสารชิ้นนี้เกิดขึ้น
“ทำไม? คนงานจึงต้องมีสหภาพแรงงาน”

1. ความหมายคำว่า “ลูกจ้างคนงาน”

มนุษย์ที่เกิดมาบนโลกใบนี้ทุกชาติทุกภาษา มีความต้องการเหมือนกันอันเป็นพื้นฐานเดียวกัน คือปัจจัย 4 ได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค
คนงานเป็นมนุษย์ที่มีส่วนในการสร้างสรรค์สรรพสิ่งทั้งหลายเพื่ออำนวยความสะดวกกับมนุษย์ทุกคนที่อยู่บนโลก
คนงานหมายถึงคนที่ทำงานทุกประเภท ที่ได้รับค่าจ้างเป็นรายชั่วโมง รายวันรายเดือน หรือรายปี ทั้งที่ใช้แรงงานกายและแรงงานสมอง คนงานไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างในภาคเอกชนจากโรงงาน บริษัทห้างร้าน ลูกจ้างในภาครัฐทั้งราชการและรัฐวิสาหกิจ ตามนิยามศัพท์ในกฎหมายแรงงานจึงกำหนดไว้ชัดเจนว่าลูกจ้างหมายความว่า “ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้กับนายจ้างโดยได้รับค่าจ้าง” ไม่ว่าจะเรียกอย่างไรคนงานก็มีความต้องการเหมือนคนทั่วไป
ผลการวิจัยปรากฏว่ามนุษย์ทั้งหลายมีความต้องการ 5 ขั้นตอนคือ
(1)ต้องการปัจจัยสี่
(2)ต้องการความปลอดภัย
(3) ต้องการยอมรับจากสังคม
(4) ต้องการความก้าวหน้าในชีวิต

2. ความต้องการของลูกจ้างคนงาน

เป้าหมายสูงสุดของความเป็นมนุษย์ต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้น มีความชอบธรรม สำคัญคือคนงานเป็นผู้สร้างและพัฒนาให้โลกเจริญรุ่งเรือง คนงานจึงควรได้รับผลตอบแทนอย่างยุติธรรม คนงานทุกคนจึงมีความต้องการเหมือนกัน คือ
2.1 ต้องการค่าจ้างที่เป็นธรรม
คือ ต้องเป็นไปตามกฎหมายกำหนด , ความรู้ความสามารถและประสบการณ์,ตามกฎสากลคือ ค่าจ้าง 1 คนสามารถเลี้ยงได้ 4 คน (ตนเอง 1 ภรรยา 1 บุตร 2 ) เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ ฯลฯ
2.2 ต้องการสวัสดิการที่ดี
คือ ค่ารักษาพยาบาล , ค่าคลอดบุตร,ค่าหัวบุตร,ค่าเล่าเรียนบุตร,สถานที่สะดวดสบาย,มีที่พักอาศัยให้,มีรถรับส่ง,มีโบนัส,ส่งเสริมความรู้,มีชุดทำงาน,จัดร้านสวัสดิการ ฯลฯ
2.3 ต้องการความมั่นคงในอาชีพ
คือ มีหน่วยงานที่มั่นคง มีตำแหน่งหน้าที่ที่ดี มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน มีหลักประกันในความเสี่ยงตามหน้าที่และลักษณะงาน ฯลฯ
2.4 ต้องการความเป็นธรรมในการทำงาน
คือ คำสั่ง ระเบียบวิธีการปฏิบัติ กฎเกณฑ์ ประเพณีปฏิบัติ ที่นำมาใช้ต้องไม่เกิดการเหลื่อมล้ำ หรือเลือกปฏิบัติจากการทำงาน เวลาทำงาน ผลตอบแทนจากการทำงาน สถานที่ทำงาน การปฏิบัติงานของหัวหน้างาน การยอมรับของเพื่อนร่วมงาน ฯลฯ
2.5 ต้องยอมรับศักดิ์ศรีและความเสมอภาค
คือ มีความสัมพันธ์อันดีต่อฉันน้องพี่บนพื้นฐานของความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่แบ่งชั้นวรรณะ ไม่ดูถูกดูหมิ่นดูแคลน ปฏิบัติต่อกันอย่างดีแม้มีตำแหน่งหน้าที่การงานที่แตกต่างกัน ให้ความสำคัญและยอมรับซึ่งกันและกัน ฯลฯ
2.6 ต้องการรวมตัวรวมกลุ่มตามสิทธิ์ขั้นพื้นฐานอันพึงมี
ต้องการรวมกลุ่มตามสิทธิ์ข้นพื้นฐานของลูกจ้างคนงานเป็นสหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน สภาองค์การลูกจ้าง หรือในส่วนของคนงานรัฐวิสาหกิจ เป็นสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ (สรส.) ถือเป็นการจัดตั้งองค์กรของลูกจ้าง ควรจะต้องได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากนายจ้างและจากรัฐในรูปแบบต่างๆ อย่างเข้าใจ

3. สหภาพแรงงานคืออะไร

การที่คนงานแต่ละคนต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ ย่อมทำให้ขาดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกัน ไม่มีพลัง ไม่มีอำนาจต่อรองกับนายจ้างนายทุนและรัฐบาล ในการปรับปรุงเกี่ยวกับค่าจ้าง ค่าสวัสดิการ ความมั่นคงในอาชีพ ความไม่เป็นธรรมในการทำงาน เกิดการยอมรับในความเสมอภาคและศักดิ์ศรี หรือกฎหมายความต้องการที่จะใช้ชีวิตที่ดีของคนงานไม่ประสพผลแต่อย่างใด

คนงานในรัฐวิสาหกิจการประปาส่วนภูมิภาค จึงได้รวมตัวรวมกลุ่มกันจัดตั้งสหภาพแรงงานและสหภาพแรงงานจึงเป็นองค์กรของลูกจ้างโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มีผลตั้งแต่ 8 เมษายน 2543 (เดิมสหภาพแรงงานเกิดขึ้น ตาม พรบ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 ต่อมาคนงานรัฐวิสาหกิจถูกเปลี่ยนมาใช้ พรบ.รัฐวิสาหกิจ 2534 สิ้นสุดเมื่อ 7 เมษายน 2543)

สรุปได้ความว่า สหภาพแรงงานคือองค์กรที่เกิดจากคนงานลูกจ้างรวมตัวกันและร่วมมือกันจัดตั้งเป็นสหภาพแรงงาน มีการดำเนินงานอย่างถาวร ปลอดจากการถูกแทรกแซงจากนายจ้างและรัฐบาล เป็นองค์กรอิสระมีประชาธิปไตย

4. วัตถุประสงค์ของสหภาพแรงงาน

4.1 แสวงหาสิทธิประโยชน์อันพึงมี ให้แก่สมาชิก(ลูกจ้างคนงาน)
คำว่าแสวงหา หมายถึง ทำให้สิ่งที่ยังไม่มีให้เกิดมีแก่ลูกจ้าง ซึ่งได้แก่ ค่าจ้างเพิ่ม สวัสดิการเพิ่ม ความมั่นคงในอาชีพ ความเป็นธรรมในการทำงาน การยอมรับความเสมอภาคและศักดิ์ ฯลฯ การขอแก้ไขกฎหมายหรือข้อบังคับให้เกิดความเป็นธรรม ฯลฯ
4.2 ปกป้องและคุ้มครองสิทธิประโยชน์อันพึงมีแก่สมาชิก (ลูกจ้างคนงาน)
คำว่า “ปกป้องและคุ้มครอง” หมายถึง การทำให้สิ่งที่มีอยู่แล้วให้มีอยู่กับลูกจ้างคนงานตลอดไป ซึ่งได้แก่ ค่าจ้าง สวัสดิการ ความมั่นคงในอาชีพ ความเป็นธรรมในการทำงาน การยอมรับในความเสมอภาคและศักดิ์ศรี ระเบียบข้อบังคับ กฎหมายที่ลูกจ้างคนงานมี มีดีอยู่แล้วให้มีอยู่ตลอดไป มิให้ถูกลิดรอนหรือถูกยุบยกเลิก

4.3 สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง
มีสิทธิและส่วนร่วมในการบริหารกิจการร่วมกับนายจ้างในการปรับปรุงวิธีการทำงานให้ดีขึ้น เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนงาน รวมถึงคุณภาพชีวิตที่ดีในด้านที่อยู่อาศัยในสังคมอย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ตั้งอยู่พื้นฐานของการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างและสหภาพแรงงาน โดยยึดหลักความเป็นอิสระ ความเสมอภาคอย่างแท้จริง และอย่างเข้าใจซึ่งกันและกัน
4.4 สร้างความเข้าใจอันดีระหว่างลูกจ้างกับลูกจ้าง
หน่วยงานรัฐวิสาหกิจลูกจ้างคนงานทุกคนถือได้ว่าเป็นลูกจ้างของรัฐด้วยกัน จึงจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจกันทุกระดับ ในส่วนของลูกจ้างที่เป็นสมาชิกต้องคำนึงถึงเป็นพิเศษในรูปแบบด้านต่าง ๆ เช่น ส่งเสริมการออมทรัพย์ให้มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จัดสวัสดิการตามความเหมาะสม ฯลฯ

5. หน้าที่ของสหภาพแรงงาน

สหภาพแรงงานจะต้องดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ เพื่อความกินดีอยู่ดี ความมั่นคง ความก้าวหน้าของคนงาน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่สหภาพแรงงานจะต้องมีหน้าที่และดำเนินกิจกรรมตามหน้าที่อย่างเคร่งครัดเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ ดังนี้
5.1 เป็นศูนย์รวมในพลังความสามัคคีของคนงานโดยพยายามประสานให้คนงานทุกคนเข้าเป็นสมาชิก และให้โอกาสสมาชิกทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมของสหภาพแรงงานอย่างสม่ำเสมอ
5.2 ให้คำแนะนำคำปรึกษาหารือกับสมาชิกในเรื่องที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม รวมไปถึงคนงานคนอื่นๆ ด้วยความจริงใจ
5.3 รับเรื่องราวร้องทุกข์ กรณีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมเกี่ยวกับการทำงานเงื่อนไขการจ้างเลือกปฏิบัติ นายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง หรือกฎหมายแล้วแต่กรณี
5.4 ทำหน้าที่เป็นตัวแทนลูกจ้างในสถานประกอบการในการเจรจาต่อรองกับฝ่ายนายจ้าง
5.5 ร่วมกับสหภาพแรงงานต่างๆ ที่รวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงาน
5.6 เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์กรแรงงานระหว่างประเทศเพื่อความสมานฉันท์กับขบวนการแรงงานทั่วโลกภายใต้ปรัชญาความเชื่อที่ว่าคนงานคือพี่น้องกัน
5.7 สหภาพแรงงานต้องจัดให้มีการศึกษาเสริมทักษะความรู้ด้านอาชีพ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง
5.8 ส่งเสริมสนับสนุนให้สมาชิกมีบทบาทและส่วนร่วมทางการเมืองในระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติ
5.9 สร้างแรงงานสัมพันธ์อันดีระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง และระหว่างลูกจ้างด้วยกันบนพื้นฐานของความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

6. สิทธิหน้าที่ความรับผิดของสมาชิกที่มีต่อสหภาพแรงงาน

สมาชิกต้องมีทั้งสิทธิ์ที่จะต้องได้รับจากสหภาพแรงงาน และจะต้องมีหน้าที่ต่อสหภาพแรงงาน ซึ่งบทบาททั้งสองอย่างนี้ต้องมีควบคู่กันไปจึงจะสมบูรณ์

6.1 สิทธิสมาชิกได้รับจากสหภาพแรงงาน
(1) ได้รับผลจากการดำเนินงานสหภาพแรงงาน
สมาชิกทุกคนมีสิทธิ์ได้รับผลประโยชน์ต่างๆ ที่ทางสหภาพแรงงานเรียกร้องจากนายจ้างและรัฐบาลอย่างสม่ำเสมอภาค ตาม พรบ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 มาตรา 29
กำหนดไว้ชัดเจนว่า “ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพจ้างมีผลผูกพันธ์นายจ้างและลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน”ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ได้แก่ ค่าจ้าง สวัสดิการ ความมั่นคงในอาชีพ ความเป็นธรรมในการทำงาน การยอมรับในศักดิ์ศรี ข้อบังคับและกฎหมาย
(2) ได้รับการจัดสวัสดิการ
สหภาพแรงงานไม่มีหน้าที่ในการจ่ายสวัสดิการให้แก่สมาชิก แต่จะเรียกร้องสวัสดิการจากนายจ้าง/รัฐบาลมาเพื่อเป็นสวัสดิการแก่ลูกจ้าง แต่สหภาพแรงงานจัดสวัสดิการเป็นลักษณะมีน้ำใจมอบให้แก่สมาชิก ซึ่งได้แก่สมาชิกเจ็บป่วยอยู่ รพ. ซื้อของไปเยี่ยม สมาชิกพ่อ แม่ ภรรยา สามีตาย จัดหาหรีดไปเคารพและเงินช่วยทำบุญสมาชิกถูกจับคุมขัง ซื้อของไปเยี่ยมพร้อมให้คำแนะนำและคำปรึกษา สมาชิกประสพภัยพิบัติไฟไหม้ น้ำท่วม ไปเยี่ยมและมอบเงินช่วยเหลือ ฯลฯ
(3) ได้รับการคุ้มครองแรงงาน
สมาชิกมอบให้สหภาพแรงงานเป็นตัวแทนในการเจรจาร้องทุกข์ต่างๆ ขอแต่งตั้งสหภาพแรงงานเป็นกรรมการร่วมสอบสวน มอบให้สหภาพแรงงานเป็นตัวแทนนำคดีขึ้นสู่ศาลแรงงานเป็นความชอบธรรมตามหลักสิทธิมนุษยชน
(4) ได้รับสิทธิอันเกิดจากข้อบังคับ
* ตรวจสอบการทำงานของกรรมการสหภาพแรงงาน ในกรณีเกี่ยวกับ การเงิน การบัญชี การทำงานทั่วไป
* เข้าร่วมประชุมใหญ่ อภิปรายซักถามข้อสงสัยและการแสดงความคิดเห็นต่างๆ
* ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการสหภาพแรงงาน
6.2 หน้าที่ของสมาชิกสหภาพแรงงาน
(1) ต้องชำระค่าบำรุง
รายได้ของสหภาพแรงงานมาจากการจัดเก็บค่าบำรุงสมาชิกจึงถูกกำหนดไว้ในกฎหมายและข้อบังคับ (การจัดเก็บค่าบำรุงยังไม่เป็นธรรมนัก เพราะสมาชิกเสียค่าบำรุงเท่ากันทั้งที่เงินเดือน / ค่าจ้างต่างกัน แต่ถ้าจะเป็นธรรมต้องจัดเก็บเป็นเปอร์เซนต์)
ค่าบำรุงที่ได้มานำมาใช้เป็นค่าบริหาร เช่น การจ้างเจ้าหน้าที่ จัดซื้อทรัพย์สินวัสดุอุปกรณ์ เครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ ได้แก่ โต๊ะ เก้าอี้ เครื่องพิมพ์ดีด เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องโรเนียว เครื่องถ่ายเอกสาร ซื้อกระดาษพร้อมอุปกรณ์ทำข่าวสารต่าง ๆ ฯลฯ
(2) ต้องสนับสนุนกิจกรรมของสหภาพแรงงาน
การดำเนินกิจการของสหภาพแรงงานต้องอาศัยอำนาจการเจรจาต่อรองเป็นเครื่องมือ การเข้าร่วมของสมาชิกจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งนัก
* การเข้าร่วมประชุมใหญ่
* การเข้าร่วมกิจกรรมการเคลื่อนไหวในกรณีต่างๆ 2) 3) ต้องช่วยประชาสัมพันธ์
การประชาสัมพันธ์ คือ นำเอาข่าวสารของสหภาพแรงงานไปแจกจ่ายและเผยแพร่ การสร้างภาพพจน์และทัศนตคติที่ดี ฯลฯ
(4) ต้องช่วยจัดหาสมาชิกเพิ่มให้กับสหภาพแรงงาน
(5) ต้องช่วยคุ้มครองแรงงาน
โดยช่วยเป็นหูเป็นตาสอดส่องดูแลทุกข์สุขของสมาชิกอย่างสนใจ และเป็นธุระในการรับเรื่องราวร้องทุกข์ต่าง ๆ
(6) ต้องช่วยปกป้องคุ้มครองสหภาพแรงงาน
การปกป้องคุ้มครองสหภาพแรงงานและผู้นำแรงงานที่ทำงานด้วยความเสียสละทุ่มเทเพื่อคนงานอย่างแท้จริงมิให้ถูกรังแก และกล้าวิพากษ์วิจารณ์ทักท้วงผู้นำที่มีพฤติกรรมทุจริตฉ้อฉล ทำลายขบวนการแรงงาน มีพฤติกรรมรับใช้นายจ้าง หรือออกนอกลู่นอกทาง

บทสรุป
บทบาทของสหภาพแรงงานนับว่าสำคัญยิ่งสำหรับคนงานทุกคนทุกประเทศ ที่จะทำให้ผู้ใช้แรงงานได้รวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง การบริหารองค์กรให้พัฒนาไปอย่างมีระบบด้วยการร่วมกันคิดร่วมกันทำ โดยยึดประโยชน์ของคนงานส่วนใหญ่เป็นหลัก ตามครรลองของการปกครองตามระบบประชาธิปไตยที่แท้จริง และพัฒนาการต่อสู้นี้จะยกระดับไปถึงขั้นที่คนงานสามารถที่มีผู้แทนในสภาที่สามารถออกกฎหมายต่างๆ ให้คุ้มครองสิทธิของคนงานได้อย่างยุติธรรมเมื่อถึงจุดนั้นสิทธิเสรีภาพ เกียรติ ศักดิ์ศรีของผู้ใช้แรงงานจะปรากฏจริง ความยุติธรรมความสันติสุขจะบังเกิดขึ้นอย่างมั่นคงสืบไป
เก็บการประปาส่วนภูมิภาคไว้เป็นสมบัติของชาติและประชาชน
โดยไม่ขายหรือสัมปทานแก่เอกชน
ไม่มีสมาชิก ไม่มีสหภาพ
ไม่มีสหภาพ ไม่มีความเป็นธรรม
Published on 01/22/2021, 8:06:36.
Last updated on 01/22/2021, 8:08:46.